A A

12 เมษายน 2558

จิตเป็นนิพพานหรือไม่? ทำไม ปรมัตถธรรม จึงแยกจิต กับ นิพพานออกจากกัน?

คุณชายรักชาติสงสัยว่า:

"จิตเป็นนิพพานหรือไม่?"

ทำไม ปรมัตถธรรม จึงจำแนกธรรมออกเป็น ๔ คือ
จิต, เจตสิก, รูป, นิพพาน (จิต กะ นิพพาน แยกกัน)

ถ้าจิตเป็นนิพพานแล้ว พระพุทธองค์จะทรงแยกเป็น ๔ หรือ

ตอบ

ในศาสนาพุทธเถรวาท  แยกไม่เพียงจิต กับ นิพพาน จากกัน  แต่ยังแยกจิต, เจตสิก, รูป จากนิพพานด้วย  ในขณะที่ในศาสนาพุทธมหายาน จิตกับนิพพานอยู่รวมกันเลย  เพียงแต่บอกว่า เป็น จิต  ของสรรพสัตว์  หรือเป็นจิต ของพระพุทธเจ้า(และพระอรหันต์)เท่านั้น

- จิต  ของสรรพสัตว์  เป็นมายา  เพราะมีอวิชชาปิดบัง จึงไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5
- จิต  ของพระพุทธเจ้า(และพระอรหันต์) เป็นนิรันดรไม่เกิดไม่ดับ


ลองอ่านหลักธรรมของศาสนาพุทธ นิกายเซน ดู:

ผมคัดมาจากหน้า 93 หนังสือพระพุทธศาสนามหายาน ของรองศาสตราจารย์ ดร. ประยงค์ แสนบุราญ

สรรพสิ่งในโลกล้วนมีอมตจิตเป็นมูลการณะ  สิ่งทั้งหลายล้วนเป็นปรากฏการณ์ของอมตภาวะนี้เท่านั้น  อมตภาวะนี้แผ่ครอบคลุมไปทุกหนทุกแห่ง  ไม่มีขอบเขตจำกัด  ไม่เกิด  ไม่ดับ  ที่เห็นเกิด-ดับนั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์  ซึ่งเป็นภาพมายา  มิใช่ภาวะที่แท้จริงของจิต  ด้วยเหตุนี้  

จิตธาตุอันนี้จึงเป็นนิรันดรไม่เกิดไม่ดับ  และเป็นมูลการณะของสรรพสิ่ง  พระพุทธเจ้าและสรรพสัตว์ต่างมีจิตมาจากแหล่งเดียวกัน  ไม่มีอะไรแตกต่าง  กล่าวคือ  จิตของพระพุทธเจ้าและสรรพสัตว์มาจากอมตจิตดวงเดียวกัน  เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของพระพุทธเจ้าและสรรพสัตว์จึงเหมือนกัน  

แตกต่างกันก็เพียง  จิตของสรรพสัตว์มีอวิชชาปิดบัง  ไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5  ในขณะที่จิตของพระพุทธองค์อวิชชาปิดบังไม่ได้  เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5  เมื่อทำลายขันธ์ 5 แล้ว  จึงไม่มีเชื้อใดๆจะให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีก

คำสอนของฮวงโป !! เรียกจิตของสรรพสัตว์ = จิต, เจตสิก, รูป  รวมทั้งจิตนิพพาน(จิตพุทธะ) ว่า "จิตหนึ่ง"

๑. " จิตหนึ่ง "


ท่านครูบาได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า :
 พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง (One mind) นอกจากจิตหนึ่ง นี้แล้วมิได้ มีอะไรตั้งอยู่เลย

จิตหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย มันไม่ใช่ของมีสีเขียวหรือสีเหลือง และไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ มันไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งทั้งที่มีการตั้งอยู่ และไม่มีการตั้งอยู่ มันไม่อาจจะถูกลงความเห็นว่า เป็นของใหม่หรือของเก่า มันไม่ใช่ของยาว ของสั้น ของใหญ่ ของเล็ก ทั้งนี้เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และเหนือการเปรียบเทียบทั้งหมดทั้งสิ้น

จิตหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่เธอเห็นว่าตำตาเธออยู่แท้ ๆ แต่จงลองไปใช้เหตุผล (ว่ามันเป็นอะไร เป็นต้น) กับมันเข้าดูซิ เธอจักหล่นลงไปสู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้เป็นเหมือนกับความว่างอันปราศจากขอบทุกๆ ด้าน ซึ่งไม่อาจหยั่งหรือวัดได้

จิตหนึ่งนี้เท่านั้น เป็นพุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่าง พุทธะ กับสัตว์โลกทั้งหลาย 
เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลาย ไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆเสีย และเพราะเหตุนั้น จึงได้แสวงหา พุทธะภาวะจากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้น นั่นเอง ทำให้เขาพลาดจาก พุทธภาวะ

ด้วยเหตุนี้ ในปรมัตถธรรมของเถรวาท  ที่จำแนกธรรมออกเป็น ๔ คือ จิต, เจตสิก, รูป, นิพพาน (จิต กะ นิพพาน แยกกัน)

จิต, เจตสิก, รูป = จิตของสัตว์โลกทั้งหลาย ไปยึดมั่นต่อสรรพสิ่งในโลก  ในขณะที่
นิพพาน = จิตพุทธะ

แต่มหายานเรียกจิต, เจตสิก, รูป, นิพพาน ว่าจิตหนึ่งไปเลย

สรุป

ที่ต้องแยกจิต กะ นิพพาน จากกัน   หรือแยกจิต, เจตสิก, รูป จากนิพพาน  เพราะว่านิพพานเป็นจิตมหาบริสุทธิ์ จึงเป็นนิรันดรไม่เกิดไม่ดับ  ในขณะที่จิตของสัตว์โลกทั้งหลาย(จิต+เจตสิก+รูป) ต้องเกิดดับไปเรื่อยๆ เป็นเพียงภาพมายา เพราะโดนกิเลสอวิชชาลวงให้ไปยึดมั่นในขันธ์ 5 และไปยึดมั่นสรรพสิ่งในโลกว่าเป็นตัวกูของกู  

นิพพาน = จิตมหาบริสุทธิ์ ไม่มีกรรมจากกิเลสตัณหาและอุปาทานที่ตนเองก่อขึ้น จึงไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย
จิตหรือ(จิต+เจตสิก+รูป) = จิตยังไม่สะอาด  จิตยังแปดเปื้อนด้วยกรรมจากกิเลสตัณหาและอุปาทานที่ตนเองก่อขึ้น  จึงต้องเกิด แก่ เจ็บ ตายไปเรื่อยๆ

0 comments:

แสดงความคิดเห็น