A A

8 มีนาคม 2558

อธิบายคำสอนเรื่องนิพพาน และ ปรินิพพาน(นิพพานแท้)ของพระอริยะสงฆ์

นิพพาน เป็นภพภูมิหนึ่งที่ ไม่มีการเกิด ไม่มีการแก่ ไม่มีการเจ็บ ไม่มีการตาย  ศาสนาอื่นเขาเรียกว่า "สวรรค์นิรันดร" นั้นถูกต้องแล้ว ในวัฏสงสารหรือ สังสารวัฏ ก็มีสวรรค์เหมือนกัน  แต่ไม่ใช่เป็นสวรรค์นิรันดร  สวรรค์ในสังสารวัฏที่มีอายุนานหน่อยเรียกว่า "พรหมโลก"  

ผู้ที่จะเข้าเมืองนิพพาน  หรือเข้าสวรรค์นิรันดรได้  มีแต่พระอรหันต์และพระอรหันต์โพธิสัตว์ ที่สิ้นอาสวะอันก่อให้เกิดอวิชชา คือ กิเลสตัณหา เท่านั้น  ถ้ายังมีกิเลสตัณหาอยู่  แต่อยากเข้าไปอยู่ในเมืองนิพพาน  ต้องพึ่งความศรัทธาและเชื่อมั่นในพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง(เช่น พระอมิตาพุทธ) หรือ  ศรัทธาและเชื่อมั่นในพระอรหันต์โพธิสัตว์องค์ใดองค์หนึ่ง(เช่น พระเยซู)  เข้าไปอาศัยอยู่ในชั้นล่างๆของแดนนิพพาน(พุทธเกษตร) ซึ่งมีเป็นร้อยชั้น  ตามระดับความบริสุทธิ์ของจิต

- แดนหรือเมืองนิพพาน เป็น ภพภูมิหนึ่ง  ส่วนตัวธรรมกาย และตัวกายทิพย์สัมโภคกาย(พระวิญญาณบริสุทธิ์)ที่อาศัยอยู่ในเมืองนิพพาน  เรียกว่า "นิพพาน" หรือ "บุคคลสุญญตา" 

- ในขณะที่ปรินิพพานนั้น  จะกลายเป็นจิตว่างเฉยๆ ที่ไม่มีกายใดๆ  มีสภาพเป็นความว่างที่มีอยู่ และก็ดำรงอยู่ในความว่างที่ไม่มีสิ้นสุด  ความว่างที่ไม่มีสิ้นสุดเรียกว่าศูนยตา(สุญญตา)  ในขณะที่จิตว่างที่ไม่มีกาย และอาศัยอยู่ในสุญญตา  เรียกว่า "มหาสุญญตา หรือธรรมสุญญตา"  

หลวงปู่บุดดา ถาวโร 

"นิพพานไม่สูญ เป็นแต่อาสวะกิเลสสูญ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม วิบาก มันสูญ แต่ 
สังขตะธรรม อสังขตะธรรม วิราคะธรรม มันไม่ได้หมดไปด้วย" (สังขตะธรรม  ... ได้แก่ จิตที่ยังไม่ถึงพระนิพพานแท้ ยังถูกปรุงด้วยบุญอยู่  การดับกิเลสตัณหาก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง และเป็นบุญใหญ่ที่สุดด้วย  จึงต้องได้รับผลเสวยสุขอยู่ในเมืองพระนิพพานอันไม่มีทุกข์)

พระอาจารย์โชฎก ญาณสิทธิ

" พระอรหันต์มี ความว่างจากตัวตน-ของตน โดยสิ้นเชิง มีอิสระเหนือทุกอย่าง 
ที่เรียกว่า "ว่าง" นี้ คือไม่ใช่ว่างชนิดที่เขาพูดกันว่า เช่นว่า จิตนึกคิดอะไรไม่ได้ กายก็แข็งทื่อเป็นท่อนไม้ แต่ที่ถูกนั้น เป็นความว่างจากกิเลส ว่างที่เฉลียวฉลาดที่สุด" = นิพพานคือว่างจากกิเลสเท่านั้น  จิตยังนึกคิดอะไรได้  ก็คือยังปรุงแต่งได้นั่นเอง แต่ไม่ได้ปรุงแต่งด้วยกิเลสตัณหา

หลวงปู่อ่ำ พระราชกวี (อ่ำ ธมฺมทตฺโต) 

"พระพุทธกัสสป เมื่อดับขันธ์ปรินิพพาน เข้าเมืองแสงใส ซึ่งก็คือเมืองแก้วแสงใส ชื่อไทยนี้ คนไทยคงเรียก นิพพาน มานานแล้ว ปราชญ์บัณฑิตโบราณจารย์จึงกล่าวเสมอๆ เช่น ถึงเมืองแก้ว อันกล่าวแล้ว คือ อมตมหานครนฤพาน ดังใน มหาเวสสันดรเทศนา กุมารกัณฑ์" 
(ดับขันธ์ปรินิพพาน คือ ดับขันธ์ 5 เฉยๆ ขันธ์ตัวใหม่คือ ธรรมขันธ์ หรือธรรมกาย และกายทิพย์อมตะ(สัมโภคกาย)  เข้าเมืองแสงใส คือ นิพพาน)

หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ

"ส่วนกายพระอรหัต ถ้าถึงพระอรหัตละก็ นิจจัง สุขัง อัตตาแท้ๆ  
กายธรรมมีขันธ์เหมือนกัน แต่เป็นธรรมขันธ์ ท่านไม่เรียกเบญจขันธ์ เป็นธรรมขันธ์เสีย มีธาตุเหมือนกัน เป็นวิราคธาตุ เป็นวิราคธรรม" 

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ  ท่านได้กล่าวถึงความว่าง หรือสุญญตาว่า เป็นสมบัติของจิตเรา หรือที่เรียกว่า "จิตเดิมแท้" มีสภาพบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ถ้าเราทำให้ปราศจากความปรุงแต่ง จึงจะถึงสภาวะนี้ได้ 

หลวงปู่ดู่ได้พูดถึงแดนนิพพานเหมือนกัน  แต่ผู้คนที่อ่านแล้วก็ยังสงสัยและกังขาอยู่  ไม่เหมือนกับสายธรรมกายของหลวงพ่อสด  และสายมโนมยิทธิของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ  พวกท่านบอกไปตรงๆว่า มีแดนนิพพาน มีเมืองนิพพาน  แต่คนอ่านสิ่งที่หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ พูดแล้วไม่ค่อยเข้าใจ เหมือนกับหลวงปู่เล่นแทงกั๊กอะไรอย่างนั้น  จะบอกว่า 
"แดนนิพพาน มีบ้านเมืองนิพพาน" ก็ใช่  บางครั้งหลวงปู่ดู่ก็ไปพูดว่า นิพพานจริงๆ แล้วเป็นความว่าง ไม่มีอะไรเลย ไม่รู้หลวงปู่ดู่จะเอายังไงกันแน่  ลองอ่านดูนะครับ:

วันหนึ่งหลวงพ่อ(ดู่)ได้เล่าว่า: 

เมื่อ ไปถึงวิมานแก้วได้แล้ว เป็นวิมานแก้วของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกุฏิของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ก็มีวิมานพระธรรม  อยู่ไปทางขวามือของพระพุทธเจ้ามีตู้พระไตรปิฎกอยู่หลายตู้ เขียนเป็นภาษาบาลีอักษรขอม ถ้าอยากรู้แปลว่าอะไรให้ถามหลวงปู่ทวด ซ้ายมือเป็นวิมานของพระสงฆ์ มีพระสงฆ์อยู่พระพุทธเจ้าเป็นประธาน  แกเดินจิตให้ดีจากวิมานแก้วจะไปถึงพระพุทธรูป 4 องค์ของกัปนี้  มีลักษณะหน้าตักกว้างไม่เท่ากันตามบารมี  องค์แรกเป็นของพระกกุสันโธมีหน้าตักกว้าง 20 วา องค์ที่สองพระโกนาคม หน้าตัก 15 วา องค์ที่สาม ของพระกัสสปหน้าตัก 10 วา องค์ที่สี่ หน้าตัก 5 วา ถ้าเป็นพระศรีอารย์องค์ที่ห้า ยังไม่ปรากฏถ้าอธิษฐาน ขอดูจะพบว่ามีหน้าตักเท่ากับองค์แรก เพราะท่านสร้างบารมีมาถึง 16 อสงไขยกับแสนมหากัป ทำจิตให้ดี" 

แต่ท่อนหลังหลวงปู่ดู่กลับบอกว่า:

"เดินจิตให้ถึงที่หลังพระทั้งสี่องค์ มีที่เวิ้งว้างไม่มีประมาณนั้นแหละคือ 
แดนพระนิพพานจริงๆ ไม่มีอะไรเลย เป็นสภาพของความว่าง แต่ไม่ใช่สูญนะแก

ท่อนหลังที่หลวงปู่ดู่พูดถึงนี้ หมายถึง  นิพพานแท้ หรือแดนพระนิพพานจริงๆว่า เป็นสภาพไม่มีอะไรเลย เป็นสภาพของความว่าง แต่ไม่ใช่สูญ  เพราะยังมีจิตอยู่  เข้าสู่ขั้นนี้เรียกว่าปรินิพพาน  ลองฟังพระนาคเสน มหาเถระ ผู้ตอบปัญหาพระเจ้ามิลินทราชา บ้างนะครับ ดวงตาจะได้เห็นธรรมขึ้นบ้างว่า  นิพพานมี 2 ระดับ

1. นิพพานระดับธรรมกาย  มีกายหรือร่างอยู่ในเมืองหรือแดนนิพพาน
2. นิพพานระดับปรินิพพาน  ไม่มีกายหรือไม่มีร่าง และไม่มีเมืองหรือไม่มีแดนนิพพานอะไรเลยทั้งนั้น

พระนาคเสน มหาเถระ 

" ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพานก็รู้ว่านิพพานเป็นสุข เพราะได้ยินเสียงพวกได้นิพพาน.....พระพุทธเจ้ามีจริง แต่พระพุทธเจ้า
ปรินิพพานดับขันธ์แล้ว ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน เหมือนเปลวไฟที่ดับแล้วก็ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน อาจชี้ได้เพียงพระธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น.........นิพพานเป็นของต้องรู้ด้วยใจ พระอริยสาวกผู้ปฏิบัติชอบแล้วย่อมได้เห็นนิพพาน ด้วยใจอันบริสุทธิ์ อันสงบประณีต อันเที่ยงตรง ไม่มีเครื่องกั้นกาง อันไม่มีอามิส"

สรุปคำสอนของเหล่าพระอริยะสงฆ์

นิพพาน เป็นเรื่องของการดับกิเลสตัณหา และความยึดมั่นในตัวตนปลอมๆ ที่เป็นตัวตนอุปาทานของมนุษย์ และสรรพสัตว์ใน 31 ภพภูมิ   เมื่อดับกิเลสตัณหา และดับตัวตนปลอมๆทิ้งไปแล้ว  ก็จะเกิดตัวตนใหม่ หรือเกิดธาตุใหม่ขึ้นมา  เป็นวิราคธาตุ 
(ธาตุหรือขันธ์ที่ไร้กิเลสตัณหา)และเป็นวิราคธรรม(ขันธ์หรือธาตุนั้นเป็นกายของธรรม = ธรรมกาย หรือธรรมขันธ์)

หลวงปู่บุดดาพูดชัดเลยว่า  "นิพพานนั้น 
สังขตะธรรม  อสังขตะธรรม วิราคะธรรม มันไม่ได้หมดไปด้วย"  นิพพานมีสังขตะธรรมอยู่ด้วย หมายความว่า ในนิพพานนั้น  จิตยังนึกคิดอะไรได้  ก็คือยังคิดปรุงแต่งได้  แต่ปรุงแต่งด้วยความว่างจากกิเลสตัณหา

ส่วนนิพพานที่ไม่มีสังขตะธรรม  มีแต่อสังขตะธรรมอยู่ คือ ปรินิพพาน  เพราะปิดswitchจิตในส่วนที่เป็นความคิด(สังขตะธรรม)ไปเลย  กลายเป็นจิตว่างเฉยๆที่ไม่ต้องการคิดสิ่งใดอีกแล้ว

0 comments:

แสดงความคิดเห็น